ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำ แนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลง
มีหลักพิจารณา ดังนี้
กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้
1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกิดไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรุ้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
2. เงื่อนไขความธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
เศรษฐกิจพอเพียง : เกษตรทฤษฏีใหม่
“เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด รวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ทางสายกลาง คำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ
การปฏิบัติตามเศรษฐกิจพอเพียง
แนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงสำหรับเกษตรกร ตามแนวพระราชดำริ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ “ทฤษฎีใหม่” 3 ขั้น คือ
ขั้นที่หนึ่ง มีความพอเพียง เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัด ขจัดการใช้จ่าย
ขั้นที่สอง รวมพลังกันในรูปกลุ่ม เพื่อทำการผลิต การตลาด การจัดการ รวมทั้งด้านสวัสดิการ การศึกษา การพัฒนาสังคม ฯลฯ
ขั้นที่สาม สร้างเครือข่ายกลุ่มอาชีพและขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หลากหลาย โดยประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจ
ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคราชการ ในด้านเงินทุน การตลาด การผลิต การจัดการ และข่าวสารข้อมูล นัยสำคัญของแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงมีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก เป็นระบบเศรษฐกิจที่ยึดถือหลักการที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” โดยมุ่งเน้นการผลิตพืชผลให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในครัวเรือนเป็นอันดับแรกเมื่อเหลือพอจากการบริโภคแล้ว จึงคำนึงถึงการผลิตเพื่อการค้าเป็นอันดับรองลงมา ผลผลิตส่วนเกินที่ออกสู่ตลาดก็จะเป็นกำไรของเกษตรกร ในสภาพการณ์เช่นนี้เกษตรกรจะกลายสถานะเป็นผู้กำหนดหรือเป็นผู้กระทำต่อตลาด แทนที่ว่าตลาดจะเป็นตัวกระทำหรือเป็นตัวกำหนดเกษตรกรดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และหลักใหญ่สำคัญยิ่ง คือ การลดค่าใช้จ่าย โดยการสร้างสิ่งอุปโภคบริโภคในที่ดินของตนเอง เช่น ข้าว น้ำ ปลา ไก่ ไม้ผล พืชผัก ฯลฯ
ประการที่สอง เศรษฐกิจแบบพอเพียงให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านหรือองค์กรชาวบ้านจะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้หลากหลาย ครอบคลุมทั้งการเกษตรแบบผสมผสาน หัตถกรรมการแปรรูปอาหาร การทำธุรกิจค้าขาย และการท่องเที่ยวระดับชุมชน ฯลฯ เมื่อองค์กรชาวบ้านเหล่านี้ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง และมีเครือข่ายที่กว้างขวางมากขึ้นแล้วเกษตรกรทั้งหมดในชุมชนก็จะได้รับการดูแลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับการแก้ไขปัญหาในทุก ๆ ด้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะสามารถเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสามารถขยายตัวไปพร้อม ๆ กับสภาวการณ์ด้านการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น
ประการที่สาม เศรษฐกิจแบบพอเพียงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีความเมตตา ความเอื้ออาทร และความสามัคคีของสมาชิกในชุมชนในการร่วมแรงร่วมใจเพื่อประกอบอาชีพต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจึงมิได้หมายถึงรายได้แต่เพียงมิติเดียว หากแต่ยังรวมถึงประโยชน์ในมิติอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ การสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน ความสามารถในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทยให้คงอยู่ตลอดไป
*****************
ที่มาของ “การเกษตรทฤษฎีใหม่” ตามแนวพระราชดำริ
ประเทศไทย เป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้นฝนตกค่อนข้างชุก มีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ประมาณ 1,500 มิลลิเมตร และมีฤดูฝนนานประมาณ 5 - 6 เดือน ในอดีตเมื่อป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ น้ำฝนส่วนหนึ่งจะถูกดูด ซับไว้ในป่า ส่วนหนึ่งจะไหลลงสู่ใต้ดินอีกส่วนหนึ่งจะถูกเก็บกักไว้ตามที่ลุ่ม เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ตามธรรมชาติ ส่วนที่เหลือจะระเหยสู่บรรยากาศและไหลลงสู่ลำห้วย ลำธาร แม่น้ำ และออกสู่ทะเล น้ำที่ถูกเก็บกักไว้ในป่า และในแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้จะค่อยๆ ไหลซึมซับออกมาทีละน้อยตลอดปี ส่วนที่ขังอยู่ในหนอง คลอง บึง และแอ่งน้ำต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในช่วงฤดูแล้ง
ต่อมาระบบนิเวศน์เปลี่ยนไปป่าไม้ถูกทำลายถูกถากถางเพื่อการเกษตรและกิจกรรมต่างๆ ห้วย หนอง คลอง บึงสาธารณะจะตื้นเขิน และถูกบุกรุกเข้าถือครองกรรมสิทธิ์ บริเวณทางระบายน้ำออกสู่ทะเลตามธรรมชาติถูกใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคาร ถนน ทางรถไฟ บ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และอื่น ๆ เมื่อฝนตกลงมาน้ำไหลสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีที่เก็บกัก แต่เมื่อกระทบสิ่งกีดขวางก็ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรง เมื่อน้ำท่าไหลลงทะเลหมดและไม่มีน้ำจากป่ามาเติม แหล่งน้ำตามธรรมชาติก็เหือดแห้ง จึงทำให้เกิดแห้งแล้งและขาดน้ำอุปโภคบริโภคอยู่เสมอ
เกษตรกรที่อยู่ในสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะชาวนาที่อยู่ในเขตใช้น้ำฝนจึงได้รับความเดือดร้อน ผลิตผลเสียหายเป็นประจำและไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานไปหารายได้ในเมืองใหญ่ ๆ และเกิดปัญหาด้านสังคมตามมา
นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อปีพุทธศักราช 2489 เป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จแปรพระราชฐานและเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกรทั่วราชอาณาจักรเรื่อยมา พระองค์ได้ประสบกับสภาพดิน ฟ้า อากาศและภูมิประเทศในภูมิภาคต่างๆ และทอดพระเนตรความทุกข์ยากแร้นแค้น ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วประเทศด้วยพระองค์เอง ทรงตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้อย่างถ่องแท้ และได้ทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไข เพื่อบรรเทาปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะ โครงการอนุรักษ์ ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดต่างๆ จำนวนมาก
สำหรับในด้านการพัฒนาอาชีพของประชาชนในชนบท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานแนวทางครั้งสำคัญเมื่อปี พ.ศ.2532 ซึ่งต่อมาประชาราษฎร์ได้รู้จักกันอย่างดีในนามเกษตร "ทฤษฎีใหม่"
แนวทางการพัฒนาชีวิตและอาชีพตามแนวทฤษฎีใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทาน พระราชดำริไว้ 3 ขั้นคือ ขั้นที่ 1 การผลิต ขั้นที่ 2 การรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ และขั้นที่ 3 การร่วมมือกับแหล่งเงิน (ธนาคาร) และกับแหล่งพลังงาน